การรับรู้ ความสัมพันธ์ระหว่าง input และ output

            หากเรารับรู้ข้อมูลเยอะมากเกินไป และเราไม่สามารถสร้างสมดุลในการจัดการความรู้เหล่านั้น ผ่านการคิด การพูด หรือการกระทำ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ภาวะอัดอั้นและภาวะอ่อนล้า ทางจิตใจ และทางสมอง

             การรับรู้ของมนุษย์จะเกิดประสิทธิภาพก็คือ การที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ทำงานสัมพันธ์กับสติ ในแต่ละช่วงเวลา การทำงานที่สัมพันธ์นี้คือกระบวนการสร้าง Output ทางความคิด อย่างไรก็ดี เมื่อการรับรู้ เกิดขึ้นมากในยุคข้อมูลข่าวสารเช่นปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่าง input และ Output ที่จะทำให้จิตใจ และสมอง รู้สึกไม่อ่อนล้า และมีพลัง คือ เราต้องสร้าง Output ออกมาทางคำพูดหรือทางกระทำด้วย

           ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราได้เสพสื่อ การกิน การดำเนินชีวิต ของยูทูปเบอร์ เรารับรู้ ความคิดเราสะท้อนออกมาบอกกับตัวเราว่า เราอยากมีชีวิตแบบนั้นบ้างจังเลย คงเป็นสิ่งที่ดี ที่เราจะได้ไปเที่ยว ได้ดูแลพ่อแม่ หรือแม้กระทั่งได้อยู่ในชีวิตที่เงียบสงบเช่นนั้น

           อันนี้คือ Output ทางความคิด แต่เมื่อเรายังคงรับ Input ไปเรื่อยๆ โดยที่เราไม่ทำ Output ให้ออกมามากขึ้นทางการพูดหรือการกระทำ เช่น เราไม่ได้ระบาย หรือบอกเป้าหมายชีวิตของเราอันใหม่แก่ขึ้นรอบข้าง ยังไม่ได้กระทำการจัดของ จัดบ้าน วางแผนงาน เรายังคงรับแต่ Input โดยไม่ทำอะไรที่เป็น Output เพิ่มเติม

            สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความไม่สมดุล

             เหมือนขาโต๊ะ ที่ด้านหน้าด้านหลังไม่เท่ากัน …. ชีวิตเซหน้าเซหลัง

            เหมือนคอขวดของนาฬิกาทราย….  รู้สึกชีวิตอึดอัดไม่ไหลลื่น

              เราไม่มีประสิทธิภาพหรือเปล่านะ เรามีความอยากมากเกินไป ทำไมชีวิตเราไม่ค่อยดี รู้สึกภายในอ่อนล้า … เป็นต้น

 

            ทางแก้เมื่อเกิดความไม่สมดุลเช่นนี้ แก้ง่ายๆ ก็คือ ทำให้มันสมดุล ถ้า Input เยอะ Output น้อย ก็ลด Input ลง เพิ่ม Output เช่น ลดการดูสื่อต่างๆ สำรวมอายตนะ สำรวมการรับรู้ เพิ่มการกระทำ อาจจะเริ่มจากสิ่งใกล้ๆตัวที่เราทำได้ คือ การเขียนบันทึกประจำวัน การจัดข้าวของ การทำตารางกิจกรรม และการลองทำ ทำไปอย่างเต็มที่ เพื่อพิสูจน์สิ่งที่เรารู้ โดยไม่ต้องกังวลล่วงหน้า เพียงแค่ทำให้เต็มที่ที่สุด

             ความสมดุลระหว่าง Input และ Output  คือพลังอย่างหนึ่ง