บางคนอาจคิดว่า “การรู้” เป็นกิจกรรมของสมอง แต่แท้จริงแล้ว “การรู้เป็นกิจกรรมที่มีจิตเป็นหลัก” ก่อนการรู้ (Cognitive) จิตจะเป็นผู้นำเดินงาน ช่วยให้เกิดการรู้ก่อนรู้ การคิดเกี่ยวกับความคิด หรือรู้ในสิ่งที่เรารู้ ซึ่งเรียกว่า อภิปัญญา (Metacognition) ซึ่งมีความหมายกว้างกว่า “สติ” เพราะสติคือการตระหนักรู้กิจกรรมในปัจจุบัน แต่อภิปัญญาจะรวมถึงเนื้อหาของความรู้ควบคู่ไปด้วย การพัฒนาอภิปัญญาจึงส่งเสริมทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ เพราะสามารถควบคุมความคิดตนเองและจัดการข้อมูลที่มีในตัวได้อย่างถูกต้อง เป็นระบบ
-
อภิปัญญา (Metacognition) คืออะไร
อภิปัญญา (Metacognition) หรือ การรู้ความคิด เป็นปัญญาระดับสูงสุดของการเรียนรู้ หมายถึง ความสามารถของบุคคลในการรู้เกี่ยวกับกระบวนการคิดของตนเอง ช่วยให้สามารถวางแผนและทบทวนความคิดของตนเองอย่างเป็นระบบ สามารถเลือกวิธีการเรียนรู้และประเมินผลที่เหมาะสมกับตนเอง และถ่ายทอดความคิดออกมาเพื่อให้การเรียนรู้หรือการแก้ปัญหาต่างๆ บรรลุตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ
อภิปัญญาต่างจากปัญญาหรือการคิดทั่วไป (Cognition) เนื่องจากปัญญา คือการคิดเชิงสรุปเปรียบเทียบ หาเหตุผล วิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ แต่อภิปัญญา เป็นการคิดที่รู้เท่าทันตนเองว่ากระบวนการคิดเป็นอย่างไร ทำไมถึงคิดแบบนี้ ทำแบบนี้ สามารถตรวจสอบความคิดของตนได้ และปรับเปลี่ยนวิธีการคิดได้ตามความเหมาะสม ดังนั้น การศึกษาอภิปัญญาจึงทำให้เราเข้าใจเหตุผลการตัดสินใจของบุคคลได้ว่ากระบวนการคิดของเขาเป็นอย่างไร ทำไมเขาจึงเลือกเชื่อหรือตัดสินใจแบบนี้ ซึ่งการพัฒนาอภิปัญญาของบุคคลขึ้นอยู่กับสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน
2.ลักษณะของ metacognition เป็นอย่างไร
โดยทั่วไปแล้ว ลักษณะของอภิปัญญาสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วนหลัก คือ
- ความตระหนักในความรู้ (knowledge) ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับตัวเอง (person) ว่ามีระดับความสามารถระดับใด เหมาะกับการเรียนรู้แบบใด และรู้จุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง ความรู้เกี่ยวกับงาน (task) ว่าเป็นงานแบบใด เกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง และความรู้เกี่ยวกับกลวิธี (strategy) ว่าต้องใช้กระบวนการใดในการแก้ปัญหางานนั้น ๆ รวมทั้งวิธีการเรียนรู้งานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งขึ้นอยู่กับวัยของผู้เรียนรู้ด้วยเช่นกัน
- ความสามารถในการควบคุมตนเอง (self-regulation) หรือการกำกับตนเองขณะทำงานเพื่อให้เสร็จลุล่วงไปได้ภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งประกอบด้วย การวางแผน (planning) เพื่อกำหนดวัตถุประสงค์และขั้นตอนของการเรียนรู้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน การตรวจสอบ (monitoring) เพื่อทบทวนความเหมาะสมและความถูกต้องของวิธีการและขั้นตอนที่เลือกใช้ในการเรียนรู้หรือการปฏิบัติงาน และการประเมินผล (evaluation) เพื่อให้แน่ใจว่าผลที่ได้มีความถูกต้องและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายที่วางไว้
3.อภิปัญญาส่งเสริมทักษะการคิดวิพากษ์ (critical thinking) อย่างไร
ความคิดเชิงวิพากษ์ (Critical thinking) เป็นทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ความสามารถอธิบายความคิดของตนเองอย่างมีเหตุผลโดยการเลือกข้อมูลที่น่าเชื่อถือมาสนับสนุนความคิดของตนเอง รวมทั้งสามารถแยกแยะความคิดส่วนตัวออกจากความจริงได้ มีการตั้งคําถาม มีการค้นหาคําตอบ มองเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของเหตุผลและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง สามารถเปรียบเทียบข้อมูลจนนำมาสรุปผลได้อย่างแม่นยำและถูกต้อง โดยทักษะการคิดเชิงวิพากษ์นี้เป็นหนึ่งในทักษะการเรียนรู้ยุคศตวรรษที่ 21
การคิดเชิงวิพากษ์ให้ความสำคัญกับการให้เหตุผลอย่างเป็นระบบ ซึ่งการเป็นระบบได้ต้องปราศจากอคติ (คือมีความตระหนักรู้ตัวเอง สามารถควบคุมตนเอง) และมีข้อมูล หรือความรู้เพียงพอสำหรับการตัดสินใจ
จากนิยามข้างต้น จะเห็นได้ว่าทักษะของการคิดเชิงวิพากษ์มีความสอดคล้องโดยตรงกับอภิปัญญาและแทบจะแยกจากกันไม่ได้ เนื่องจากอภิปัญญาคือการที่ผู้เรียนรู้ว่าตนเองคิดอะไร (thinking about thinking) และสามารถควบคุมตนเองได้ ซึ่งแน่นอนว่าหากเราผ่านกระบวนการในการทบทวนตนเองบ่อย ๆ จากการวางแผน ตรวจสอบ และประเมินผล ย่อมทำให้เรารู้จักตนเองมากขึ้น รู้ว่าเราเก่งอะไร รู้ว่าวิธีการแบบใดที่เหมาะสมกับเรา และรู้จุดที่ควรพัฒนา ทำให้ทำงานได้ดีขึ้นในครั้งต่อ ๆ ไป ซึ่งเป็นการส่งเสริมทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ไปด้วย เพราะเรารู้เหตุผลเบื้องลึกว่าทำไมจึงตัดสินใจแบบนี้ ทำให้สามารถเชื่อมโยงและเปรียบเทียบข้อมูลก่อนตัดสินใจได้ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ผู้เรียนส่วนมากสามารถแก้โจทย์ปัญหาที่ซับซ้อนหรือสร้างงานศิลปะที่สวยงามได้โดยไม่ได้ตระหนักว่าพวกเขาทำเช่นนั้นได้อย่างไร เป็นเพราะคิดเก่งหรือโชคช่วย? ซึ่งหาก
ผู้เรียนรู้กลไกการทำงานของตนเอง ย่อมพยายามหาวิธีที่มีประสิทธิภาพเพื่อพัฒนาการเรียนรู้และผลงานของตนเองให้ดียิ่งขึ้นในครั้งถัดไป
แหล่งอ้างอิง
https://archive.lib.cmu.ac.th/full/T/2555/teng30555cs_ch2.pdf
http://www.thaipediatrics.org/Media/media-20200518145918.pdf