การสอนแบบฮัฟรูทา (Havruta learning) เทคนิคความฉลาดของชาวยิว

หลายคนคงเคยสงสัยว่าทำไมคนยิวถึงฉลาด? จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีชาวยิวได้รับรางวัลโนเบลถึงร้อยละ 22 ของประชากรโลก แม้ประชากรชาวยิวมีเพียงร้อยละ 0.25 เท่านั้น สิ่งที่สะท้อนข้อเท็จจริงนี้ได้ดีคือ ระบบการศึกษาของชาวยิวที่เรียกว่า “ฮัฟรูทา (Havruta)” ซึ่งเน้นการจับคู่พูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดตั้งแต่เด็ก โดยไม่ยึดติดกับคะแนนสอบ และไม่คำนึงถึงอายุ ชั้นเรียน และเพศ นอกจากนี้ Havruta ยังเป็นวิธีที่ใช้ในการศึกษาคัมภีร์ทาลมุด (Talmud) ซึ่งเปรียบเหมือนเสาหลักทางปัญญาของชาวยิวอีกด้วย

การเรียนรู้แบบ Havruta เริ่มต้นในยุค Tannaim ช่วงปี 10-200 C.E. ณ ดินแดนของประเทศอิสราเอล โดยครูสอนศาสนายูดาย หรือที่เรียกว่า Rabbis ในสมัยนั้นมักจะให้นักเรียนจับคู่เรียนด้วยกัน จึงเป็นที่มาของ Havruta หมายถึงความเป็นเพื่อน (friendship) และเป็นระบบการศึกษาที่เติมเต็มสังคมในสมัยนั้น ซึ่งครูจะไม่สนับสนุนให้นักเรียนนั่งเรียนคนเดียว สังเกตได้จากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ Rabbis ชื่อ R. Yosi b. R. Hanina กล่าวว่า “นักปราชญ์ที่นั่งเรียนคนดียวจะกลายเป็นคนโง่” โดยนักเรียนจะได้ศึกษาแบบ Havruta ทั้งช่วงเช้า กลางวัน และเย็น โดยเฉลี่ย 10 ชั่วโมงต่อวัน และครูผู้สอนมักจะให้นักเรียนสลับคู่กันจนครบทั้งห้องประมาณ 20 คนในช่วงปีการศึกษา หากหลังจากนักเรียนจับคู่เรียนแล้วยังไม่เข้าใจเนื้อหา ก็สามารถถามครูผู้สอนได้

การเรียนแบบ Havruta เหมาะกับการศึกษาคัมภีร์ทาลมุด เนื่องจากในคัมภีร์มีเนื้อหาหลายส่วนของหลักการศาสนายูดายที่ยังเป็นที่โต้แย้งกัน ทำให้ต้องมีการวิพากษ์และคิดวิเคราะห์ รวมทั้งกิจกรรมโต้วาทีระหว่างผู้เรียน เพื่อนำเสนอเหตุผลและประเด็นที่เหนือกว่าอีกฝ่าย ดังนั้นวิธีการ Havruta จะช่วยให้ผู้เรียนมีบทบาทในการอธิบายความคิดของตนเอง และใช้ทักษะในการโน้มน้าว ตั้งคำถาม โต้แย้ง รวมถึงการร่วมมือกันอย่างมีวิจารณญาณเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปใหม่ โดยแรกเริ่ม การเรียนแบบ Havruta ใช้สอนเฉพาะนักเรียนชายเท่านั้น แต่ในปัจจุบันเป็นที่นิยมในนักเรียนหญิงที่ศึกษาคัมภีร์ทาลมุดด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา Havruta ยังมีการพัฒนาการเรียนการสอนในรูปแบบอื่น ทั้งทางโทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ต เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

ในส่วนวิธีการเรียนรู้แบบ Havruta สามารถแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ การค้นหาหัวข้อที่สนใจ (examine) ตั้งคำถาม (Question) โต้วาที (Debate) และสะท้อนความคิด (Reflect) โดยนักเรียนในห้องจะจับคู่กันเรียนในประเด็นที่น่าสนใจ พร้อมผลัดกันตั้งคำถามและตอบ นำไปสู่การแลกเปลี่ยนความคิดเชิงวิพากษ์กับคู่เรียน ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในประเด็นดังกล่าวเพราะอะไร และจบด้วยการสะท้อนความคิดของตนเองและเพื่อนเพื่อสรุปบทเรียนที่ได้รับ โดยคู่เรียนสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) คู่เรียนที่เก่งกว่า ซึ่งมีบทบาทคล้ายครู จะช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะการสอนเพื่อน และเทคนิคการเรียนของตนให้ดีขึ้น 2) คู่เรียนที่อ่อนกว่า ซึ่งจะได้รับประโยชน์เกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนรู้ และการหาข้อมูล และ 3) คู่เรียนที่มีความรู้พอกัน มีข้อดีที่ไม่สามารถอ้างได้ว่าใครเก่งกว่า ทำให้ต้องพยายามหาเหตุผลมาสนับสนุนความคิดของตนเอง ช่วยฝึกนักเรียนให้คิดวิเคราะห์และยอมรับคำวิจารณ์ได้ดีขึ้น ซึ่งนักเรียนทุกคนควรได้คู่กับทุกประเภท เพื่อฝึกฝนทักษะที่แตกต่างกันตลอดปีการศึกษา

ในปัจจุบัน การเรียนรู้แบบ Havruta มีกิจกรรมที่เรียกว่า Project Zug ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนชุมชนการเรียนรู้ (learning community) ของชาวยิว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวยิวได้เจอเพื่อนใหม่ ได้แรงบันดาลใจ และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่น่าสนใจในสังคม เช่น ปรัชญาของยิว การส่งเสริมความสงบสุขในโลก การใช้เทคโนโลยีในช่วงวิกฤตโควิด เป็นต้น โดยในปัจจุบันมีทั้งรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ โดยมีผู้ดำเนินรายการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กิจกรรมผ่านไปอย่างราบรื่น ส่วนมากจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที- 1 ชั่วโมงในการถกประเด็น และไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับสมาชิก แต่สามารถบริจาคเพื่อสนับสนุนกิจกรรมได้

โดยสรุป การเรียนรู้แบบ Havruta ทำให้เราเข้าใจว่าทำไมระบบการศึกษาของชาวยิวจึงมีคุณภาพ การเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ต้องยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (student-centered) โดยครูเป็นผู้ให้คำแนะนำและทำหน้าที่เหมือนโค้ชมากกว่าผู้สอน ซึ่งจะทำให้นักเรียนได้ฝึกคิดวิเคราะห์และฝึกทักษะอีกหลายอย่างจากการแลกเปลี่ยนกับคู่เรียนอย่างเต็มที่ นับว่า Havruta เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ทันสมัยและมาก่อนกาลจริง ๆ

 

แหล่งที่มา

https://en.wikipedia.org/wiki/Chavrusa#Havruta_magazine

https://www.juliakranzler.com/havruta-grab-and-gos

https://prizmah.org/knowledge/resource/project-zug-online-learning-coronavirus-contingency

https://www.bethshalomaustin.org/project-zug#whatisprojectzug

https://www.projectzug.org/#whyzug