จากบันทึกประวัติศาสตร์ของโลก พบว่ามีเหตุการณ์มหัศจรรย์ (Miracle) เกิดขึ้นอยู่จำนวนไม่น้อย ซึ่งแม้เหตุการณ์เหล่านี้จะไม่เกิดเป็นปรกติทั่วไป แต่เนื่องจากจำนวนที่ไม่น้อยจึงมีนักปรัชญาที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับ เหตุการณ์มหัศจรรย์ โดยนักปรัชญาท่านนี้มีชื่อว่า เดวิด ฮูม
เดวิด ฮูม ได้นิยาม เหตุการณ์มหัศจรรย์ไว้ดังนี้
การละเมิดกฎแห่งธรรมชาติโดยความตั้งใจของเทพหรือโดยการแทรกแซงของตัวแทนที่มองไม่เห็น
(a transgression of a law of nature by a particular volition of the deity or by the interposition of some invisible agent)
“กฎธรรมชาติ” ตามทัศนะของฮูมมีลักษณะสามประการ คือ
1.ความสม่ำเสมอของเหตุการณ์เกี่ยวกับการดำเนินไปของโลกและสรรพสิ่งในโลก โดยมิใช่เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น
2. เป็นกฎตายตัวที่ไม่เคยมีตัวอย่างขัดแย้ง และไม่สามารถละเมิดตัวเองได้
3.เป็นกฎเชิงประจักษ์ที่อยู่ภายใต้ความสามารถในการรับรู้ทางประสาทสัมผัสของมนุษย์ผู้ประเมินเหตุการณ์นั้น
ฮูมเป็นผู้เชื่อเรื่องความรู้ได้จากประสบการณ์ (นักประจักษนิยม) แต่สิ่งที่ฮูมแตกต่างจากจอห์น ล็อค และ ยอร์จ เบอร์คเล่ย์ คือฮูมเชื่อว่า ความรู้ไม่ได้มาจากประสบการณ์เท่านั้นแต่ยังรวมถึงมโนภาวะ การประทับของจิต นอกจากนี้เขายังปฏิเสธสิ่งสากล คือเขาไม่ยอมรับการมีอยู่ของ พระเจ้า จิต หรืออัตตา ซึ่งการเสนอความคิดเห็นเช่นนั้นเป็นสิ่งที่แตกต่าง และตรงกันข้ามกับนักปรัชญาในยุคสมัยนั้นอย่างมาก
สำหรับเรื่องเหตุการณ์มหัศจรรย์ (Miracles) ฮูมได้ให้เหตุผลไว้เป็นลำดับดังนี้
- คนฉลาดจะจัดการความสัมพันธ์ระหว่างระดับความเชื่อของเขาให้สัมพันธ์กับหลักฐาน เขาได้ยกตัวอย่างกรณีการเดินบนน้ำของพระเยซู ว่าเป็นสิ่งไม่ควรเชื่อ คนจำนวนมากไม่สามารถเดินบนน้ำได้ การเดินน้ำบนน้ำของพระเยซูจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรเชื่อ
- ฮูมกล่าวต่อไปว่า ถ้าให้เชื่อระหว่างสองเหตุการณ์ เราควรเลือกเชื่อในเหตุการณ์มหัศจรรย์ที่น้อยกว่า ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีคนกล่าวว่าพระเยซูฟื้นคืนชีพ มีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้ 2 ทางคือ คำกล่าวผิด กับพระเยซูฟื้นจากความตาย สิ่งที่น่าจะเป็นไปได้จริงคือคำกว่าวผิด
- ฮูมเสนอว่า การอ้างว่าเหตุการณ์มหัศจรรย์ถูกสร้างขึ้น เป็นสิ่งไม่มีพยานหลักฐานมากเพียงพอ บุคคลที่จะเป็นพยานได้ในทัศนะของฮูมต้องมีการศึกษา มีความฉลาด และมีความน่าเชื่อถือ พยานควรมีจำนวนที่เพียงพอ ซึ่งทำให้ในมุมมองของฮูมเหตุการณ์มหัศจรรย์ต่าง ๆ ไม่น่าเชื่อถือและไม่ควรยอมรับ
- เขาพบว่าเหตุการณ์มหัศจรยย์มักพบในประเทศที่ล้าหลังขาดความรู้ ทำให้เหตุการณ์มหัศจรรย์ที่อ้างถึงเหล่านั้น เชื่อถือไม่ได้
- สุดท้าย เขาเชื่อว่าเราควรปฏิเสธเหตุการณ์มหัศจรรย์ที่ปรากฏในศาสนาทุกศาสนา
ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า
“No testimony is sufficient to establish a miracle, unless the testimony be of such a kind, that its falsehood would be more miraculous than the fact which it endeavours to establish”
ก็เป็นการกล่าวเปรียบเปรยว่า “การโกหก” ก็เป็นสิ่งมหัศจรรย์เช่นกัน เพราะ ไม่มีคำยืนยันที่เพียงพอ
ส่วนการประเมินความเป็นไปได้ของเหตุการณ์อัศจรรย์นั้น พบว่า ฮูมไม่ได้ยืนยันความเป็นไปได้หรือไม่ได้ของเหตุการณ์อัศจรรย์ในทางภววิทยา แต่แนวคิดดังกล่าวของเขานำไปสู่ข้อสรุปเชิงญาณวิทยาได้เพียงว่ามนุษย์ไม่สามารถตัดสินได้ชัดเจนว่า เหตุการณ์ใดถือเป็นเหตุการณ์อัศจรรย์ เนื่องจากสาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือแต่ละพื้นที่ของโลกธรรมชาติมีเหตุการณ์ที่มนุษย์ถือเป็นกฎธรรมชาติแตกต่างกัน.
เครดิต
- วิทยานิพนธ์มโนทัศน์เรื่องเหตุการณ์อัศจรรย์ของเดวิด ฮูม โดยคุณ อัญชลี ปิยปัญญาวงศ์
- https://www.mytutor.co.uk/answers/6428/A-Level/Philosophy/Explain-Hume-s-Argument-Against-Miracles/
- https://www.mbu.edu/seminary/a-critique-of-david-humes-on-miracles/
- https://onlinelibrary.wiley.com/doi/pdf/10.1111/j.1747-9991.2007.00088.x
- https://www3.nd.edu/~afreddos/courses/43811/hume-on-miracles.htm
- https://philosophicaldisquisitions.blogspot.com/2015/05/humes-argument-against-miracles-part-one.html